![]() |
ที่มา: https://www.thairath.co.th/content/194850 |
ประวัติของกลองมโหระทึก
"กลองมโหระทึก" มโหระทึกเป็นประเภทกลอง เพราะมีรูปร่างคล้ายกลอง จึงเรียกกันติดปากว่า "กลองมโหระทึก" แต่มโหระทึกทำด้วยโลหะผสมที่เรียกว่าสำริด (Bronze) ในตระกูลฆ้อง แล้วมักมีประติมากรรมรูปกบขนาดเล็กๆ ประดับขอบแผ่นหน้า คนบางกลุ่มจึงเรียก "ฆ้องกบ" หรือ "ฆ้องเขียด" แต่เอกสารจีนเรียก "กลองทองแดง" เพราะมีส่วนผสมของทองแดงเป็นโลหะหลัก
ซึ่งการใช้ คือลักษณะการตี แต่สำหรับกลองมโหระทึกนั้น เรียกว่า "กระทั่งมโหระทึก"
คำว่า "กระทั่ง" เป็นคำกริยาที่แสดงถึงอาการที่ทำให้เกิดเสียง โดยเฉพาะกลองมโหระทึกนี้ จะไม่ใช้คำว่าตีกลองมโหระทึก แต่จะใช้คำว่ากระทั่งมโหระทึกมากกว่า
ผู้ค้นพบ
หนุ่มชุมพรอาชีพดูดทราย เจอกลอง "มโหระทึก" ลายนกยูงบินทวนเข็มนาฬิกา อายุราว 2,500 ปี ในคลองอู่ตะเภาแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว
จากการตรวจสอบของลักษณะกลองใบนี้ นักโบราณคดี ระบุว่า ทำด้วยสำริดอยู่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ยุคเหล็กอายุราว 2,500-2,000 ปีมาแล้ว เปรียบเทียบได้กับกลองมโหระทึกสำริดแบบเฮเกอร์ 1 (Heger 1) ในวัฒนธรรมดองซอน ที่พบในเวียดนาม นับเป็นรูปแบบกลองที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดใบหนึ่ง ที่พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นายเอนก กล่าวอีกว่า ในส่วนตรงกลางหน้ากลอง มีลายดาวหรือดวงอาทิตย์ 14 แฉก ที่สำคัญมีลายหางนกยูงคั่นปรากฏอยู่ ที่ยังไม่เคยพบเห็นในกลองประเภทนี้ในประเทศไทย และยังมีลายนกมีหางคู่ยาวกำลังเอี้ยวไซร้ปีกหรือขน บินทวนเข็มนาฬิกา จำนวน 6 ตัว แถวลายจุดถัดมาเป็นแถวลายวงกลมม้วน คล้ายก้นหอย 12 อัน และลายนกกระสาคู่มีหงอนและไม่มีหงอน บินทวนเข็มนาฬิกาจำนวน 8 คู่ รวม 16 ตัวตัวกลองมีหูสี่ด้านแต่ละอัน ลายคล้ายเกลียวเชือก สภาพตัวกลองมีร่องรอยของการใช้ทอยอยู่โดยรอบ แสดงถึงกรรมวิธีการหล่อแทนที่โลหะด้วยขี้ผึ้ง (Lost wax or Cire Perdue) พิมพ์ประกบสองชั้น บริเวณหน้ากลองบางส่วน มีคราบสนิมสีน้ำตาลแดงจับ ฐานล่างส่วนหนึ่งชำรุดแตกบิ่นหายไป
อายุสมัยและขนาด
ก่อนประวัติศาสตร์ อายุสมัยราวพุทธศตวรรษที่ 5 - 10 ปี ประมาณ 2,000 - 3,000 ปีมาแล้ว พบในวัฒนธรรมโบราณต่างๆ ในดินแดนเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พม่า ไทย เวียดนาม ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น
ขนาด : กว้าง 76 เซนติเมตร, สูง 56 เซนติเมตร, (หน้ากลอง) ศูนย์กลาง 68.5 เซนติเมตร
ลักษณะ
![]() |
ที่มา : http://www.manager.co.th |
วัตถุประสงค์ในการใช้
1. ใช้เป็นเครื่องแสดงฐานะความมั่งคั่ง
2. ใช้เป็นวัตถุสำคัญประกอบในพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย
3. ใช้ตีเป็นสัญญาณในการสงคราม
4. ใช้ตีประกอบในพิธีกรรมขอฝน
5. ใช้ตีเพื่อการบำบัดรักษาโรคทางไสยศาสตร์
หลักฐานทางเอกสารและโบราณคดี
หลักฐานทางเอกสาร
สำหรับในประเทศไทยมีหลักฐานปรากฏว่ามีการผลิตและใช้กลองมโหระทึกมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (ยุคโลหะ) เป็นต้นมา หลักฐานทางเอกสารที่พบว่ามีการใช้กลองมโหระทึก คือ - สมัยสุโขทัย หนังสือไตรภูมิพระร่วง โดยเรียกว่า มหรทึก ความว่า "...บ้างขับสรรพสำเนียงเสียงหมู่นักคุนจุนกันไปเดียรดาษ พื้นกลองแตรสังข์ระฆังกังสดาล มหรทึกกึกก้องทำนุกดี..."
- สมัยอยุธยา ประมาณแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีการกล่าวถึงชื่อกลองมโหระทึกในกฎมณเฑียรบาล โดยเรียกว่า หรทึก และใช้ในงานพระราชพิธี ความว่า"...งานสมโภชนสมุหะประธานทูลเผยใบศรี ญานประกาศถวายศโลก อิศรรักษา ถวายพระศรีเกตฆ้องไชย ขุนดนตรีตี หรทึก ..." และ "...ในเดือนเก้าพระราชพิธีตุลาภาร ขุนศรีสังครเป่าสังข์ พระอินทรเภรี พระนนทิเกษาตีฆ้องไชย ขุนศรีตีหรทึก..."
- สมัยรัตนโกสินทร์ พบว่าได้กลับมาเรียกชื่อกลองดังกล่าวว่า มโหระทึก และเรียกต่อเนื่องกันมาถึงปัจจุบัน โดยยังมีการใช้กลองมโหระทึกในงานพระราชพิธีต่างๆ เช่น พระราชพิธีฉัตรมงคล เป็นต้น
หลักฐานทางโบราณคดี
กลองมะโหระทึกที่พบในประเทศไทย เช่น ภาคเหนือ บ้านบ่อหลวง จังหวัดน่าน, ตำบลท่าเสา จังหวัดอุตรดิตถ์, บ้านนาโบสถ์ เป็นต้น จังหวัดตาก ภาคกลาง เช่น บ้านสามง่าม จังหวัดตราด, เขาสะพายแร้ง จังหวัดกาญจนบุรี, แหล่งโบราณคดีคูบัว จังหวัดราชบุรี เป็นต้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น วัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) จังหวัดมุกดาหาร, บ้านดงยาง จังหวัดมุกดาหาร, บ้านสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นต้น ภาคใต้ เช่น แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร, อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี, ตำบลท่าเรือ จังหวัดนครศรีธรรมราช ,ตำบลจะโหนง จังหวัดสงขลา เป็นต้น
ทุกคนคงได้ความรู้เรื่องของ "กลองมโหระทึก" กันแล้วนะคะ มันน่าอัศจรรย์มากๆเลย ที่มีกลองขนาดใหญ่ขนาดนี้ทำด้วยสำริด พร้อมด้วยการสลักลายที่สวยงามบนตัวกลอง วิธีการใช้ก็ยังมีการใช้ที่เฉพาะ คราวหน้า "ใครไม่ดี แต่โบราณคดีดีดีจริงๆ" จะพาทุกคนไปรู้จักกับเรื่องของโบราณคดีเรื่องไหนนั้น คอยติดตามชมนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร,จากhttp://www.virtualmuseum.finearts.go.th/,ค้นเมื่อ 1/03/61
กลองมโหระทึกโบราณวัตถุชิ้นสำคัญในพิพิธภัณฑ์ฯ ชุมพร,ณัฐกานต์ พิภูษณกาญจน์,จากhttps://www.gotoknow.org/posts/4669,ค้นเมื่อ 1/03/61
พบกลอง 'มโหระทึก' อายุ2,500ปีที่ชุมพร,ไทยรัฐออนไลน์,จากhttps://www.thairath.co.th/content/194850,ค้นเมื่อ 1/03/61
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น